ชวนทำความรู้จักโรคออฟฟิศซินโดรม ปัญหาสุขภาพของคนรุ่นใหม่ 2019

ชวนทำความรู้จักโรคออฟฟิศซินโดรม

ปัจจุบันโรคออฟฟิศซินโดรมพบในกลุ่มนักเรียนและวัยทำงานมากขึ้น เนื่องจากมักทำงานอยู่ในท่าทางเดิมเป็นเวลานาน เช่น นั่งพิมพ์คอมพิวเตอร์ เล่นเกมออนไลน์ ดูหนังจากมือถือ ฯลฯ ทำให้มีการเกร็งตัวของกล้ามเนื้อบางส่วนนานเกินไป เกิดอาการกล้ามเนื้ออักเสบ รวมถึงส่งผลต่อปัญหาสุขภาพอื่น ๆ ตามมาด้วย

ในบทความนี้ เราจึงได้รวบรวมข้อมูลที่น่าสนใจเกี่ยวกับโรคออฟฟิศซินโดรมมาให้ทุกท่านได้สำรวจตนเองและปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อให้ห่างไกลจากโรคนี้

โรคออฟฟิศซินโดรม มีอาการที่สังเกตได้ใน 3 ระบบของร่างกาย คือ

1. การมองเห็น มักจะมีอาการดวงตาแห้ง ระคายเคืองตา สายตาพร่า ฯลฯ เนื่องจากการจ้องคอมพิวเตอร์เป็นเวลานาน การใช้โทรศัพท์มือถืออย่างต่อเนื่องหลายชั่วโมง ทำให้ได้รับรังสีสีฟ้าที่ทำให้ดวงตาอ่อนล้า รวมถึงการดูหนัง หรือใช้คอมพิวเตอร์ในที่แสงสว่างไม่เพียงพอด้วย

2. การหายใจ จะสังเกตเห็นได้ชัดถ้านั่งทำงานอยู่ในห้องที่มีพื้นที่จำกัดและอากาศถ่ายเทไม่เพียงพอ ซึ่งทำให้มีอาการหายใจไม่สะดวก แน่นหน้าอก เวียนศีรษะง่าย ภูมิแพ้ รวมถึงเสี่ยงต่อการเป็นโรคติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจง่ายกว่าคนที่ทำงานในพื้นที่เปิดโล่ง นอกจากนี้ หากมีการใช้งานเครื่องถ่ายเอกสารเป็นประจำในห้อง ก็จะมีการสะสมของละอองหมึกพิมพ์ในระบบทางเดินหายใจ เกิดอาการอักเสบของปอดและหลอดลมในระยะยาวได้

3. การอักเสบของกล้ามเนื้อ เช่น ไหล่ หลัง บั้นเอว ที่จะมีอาการตึงเกร็งในระหว่างการพิมพ์งานหรือการประชุมเป็นเวลานาน โดยเฉพาะหากเก้าอี้มีความอ่อนนุ่มหรือเอนมากเกินไป ก็จะทำให้มีอาการปวดหลังและเอวตามมาได้

การรักษาโรคออฟฟิศซินโดรมประกอบด้วย

1. การปรับพฤติกรรมในการทำงาน ได้แก่ ลดชั่วโมงในการทำงานต่อเนื่อง เฉลี่ยงานแต่ละประเภท ให้มีทั้งส่วนที่ต้องนั่งประชุมอยู่กับที่และการเดินตรวจงานไปมาสลับกันในแต่ละวัน

2. การปรับท่าในการนั่งเก้าอี้และในรถควรจะปรับระดับความสูงและองศาการเอนตัวที่เหมาะสม ไม่นั่งไขว่ห้างที่จะทำให้การเทน้ำหนักร่างกายไม่สมดุล

3. เพิ่มการยืดเหยียดกล้ามเนื้อเป็นระยะ ทุก 45 นาที ถึง 1 ชั่วโมง จะทำให้ลดอาการเกร็งของกล้ามเนื้อและได้พักความอ่อนล้าของกล้ามเนื้อรอบดวงตา

4. ลดความเครียดระหว่างการทำงานด้วยการพูดคุยเรื่องทั่วไป ฟังเพลงผ่อนคลายบ้าง

5. นวดเพื่อสุขภาพ ทั้งนี้หากมีโรคประจำตัว ต้องปรึกษาแพทย์ก่อน เพราะอาจจะส่งผลข้างเคียงต่อร่างกายได้

6. อาจต้องทำกายภาพบำบัดร่วมกับการรับประทานยา สำหรับผู้ที่เป็นขั้นรุนแรง

โรคออฟฟิศซินโดรมอยู่ใกล้ตัวทุกคนมากกว่าที่คิด การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในชีวิตประจำวันอย่างต่อเนื่องตามที่กล่าวมา จะช่วยให้ทุกท่านห่างไกลจากโรคนี้ได้

ปัญหาสุขภาพของคนรุ่นใหม่ 2019